top of page

พลาสติกประเภทต่างๆ ที่นำมาผลิตเป็นสินค้าที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน

เชื่อว่าหลายๆคนมีคำถามนี้ เวลาที่ไปยืนเลือก สินค้าพลาสติกต่างๆ

พลาสติกดูภายนอกอาจจะคล้ายๆกัน แต่ ถ้าผลิตภัณท์ที่เรากำลังมองหาอยู่นั้น ต้องนำมาใส่ อาหาร หรือใส่น้ำ เราอาจจะต้องศึกษากันมากขึ้นอีกสักนิด เพราะมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพและความปลอดภัยของเรา

พลาสติกมันมีกี่ประเภทกันนะ?

โดยเฉพาะที่เห็นตัวย่อต่างๆที่มาร์คอยู่บนตัวผลิตภัณท์

หรือ ข้อความทางการค้าต่างๆที่พิมพ์อยู่บนแพ็กเกจจิ้ง

ชวนมาเรียนรู้ข้อมูลของพลาสติกแต่ละประเภทกันค่ะ

เริ่มจากที่เราคุ้นเคยกันก่อนนะคะ

PET หรือ PETE

พลาสติกประเภทนี้จะเป็นพลาสติกที่มีหมายเลข "1" อยู่ในสัญลักษณ์ที่มาร์คไว้บนผลิตภัณท์ค่ะ

โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylne Terephthalate) คือชื่อเต็มๆ แต่เราเรียกกันติดปากว่า “ขวดเพ็ต”

เป็นพลาสติกที่มีคุณสมบัติ ความ"ใส" ทนแรงกระแทกดี ไม่เปราะแตกง่าย และสามารถกันการซึมผ่านของแก๊สได้ดี จึงเป็นที่นิยมนำมาผลิตเป็น ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม และขวดน้ำมันพืช

โดยทั่วไป สามารถทนอุณหภูมิได้ถึง -20 ˚C และความร้อนที่ ไม่เกิน 60 – 70 ˚C

ดังนั้น ไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะใส่น้ำ หรือ ของเหลวที่มีอุณหภูมิสูง

HDPE เอชดีพีอี

พลาสติกประเภทนี้จะเป็นพลาสติกที่มีหมายเลข "2" อยู่ในสัญลักษณ์ที่มาร์คไว้บนผลิตภัณท์ค่ะ

มีชื่อว่าเต็มๆว่า โพลิเอทิลีน (ชนิดความหนาแน่นสูง) (High Density Polyethylene)

เป็นพลาสติกที่มีความหนาแน่นสูง ค่อนข้างแข็งแต่มีความยืดหยุ่นมาก มีความเหนียว ทนทานไม่แตกง่าย

ในกระบวนการผลิตค่อนข้างเป็นที่นิยมเพราะขึ้นรูปง่าย และสามารถทำสีสันได้หลากหลาย สด สวยงาม

รวมไปทั้งมีคุณสมบัติในการทนทานต่อสารเคมีต่างๆ

จึงจะเห็นว่า มักถูกนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณท์สำหรับ แชมพูสระผม ขวดแป้งเด็ก บรรจุภัณท์บรรจุน้ำยารีดผ้า

และด้วยคุณสมบัติเด่นในการ ป้องกันความชื้นซึมผ่านได้อย่างดีเยี่ยม ก็มักจะเห็นถูกนำไปผลิตเป็น ขวดบรรจุนม ซึ่งช่วยยืดอายุของนมให้ยาวนานขึ้น

โดยทั่วไป สามารถทนอุณหภูมิได้ถึง -20 ˚C และความร้อนนั้นทนได้ถึง ไม่เกิน 110˚C ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิของน้ำเดือดค่ะ

PVC พีวีซี

พลาสติกประเภทนี้จะเป็นพลาสติกที่มีหมายเลข "3" อยู่ในสัญลักษณ์ที่มาร์คไว้บนผลิตภัณท์ค่ะ

โพลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride) เป็นชื่อแบบเต็ม แต่เราเรียกกันว่า พีวีซี

พลาสติกประเภทนี้ หลักๆสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ

PVC แบบ แข็ง ซึ่งจะเห็นประจำในสินค้า ท่อ เช่น ท่อน้ำประปา หรือในสินค้าก่อสร้างต่างๆ มีการนำมาทำเลียนแบบลายไม้ เช่นประตูPVC หน้าต่าง และวงกบPVC ต่างๆ

PVC แบบ นิ่ม แบบนี้จะถูกนำไปทำม่านห้องอาบน้ำ แผ่นกระเบื้องยาง แผ่นพลาสติกแลุลายปูโต๊ะ ฉนวนหุ้มสายไฟฟ้า สายยางใสๆ รวมไปถึงเจ้าแผ่นใสๆที่เราใช้สำหรับห่ออาหารด้วยค่ะ

ขวดใส่แชมพูสระผมบางยี่ห้อก็ผลิตมาจากพลาสติก PVC ซึ่งพลาสติกประเภทนี้ มีสารเคมีที่เชื่อกันว่าอาจจะปนเปื่อนออกมาเมื่อผ่านระยะเวลาใช้งานไปสักพัก ดังนั้น จึงมีการรณรงค์ไม่ให้นำมาใช้ในบรรจุภัณฑ์ที่ต้องมีการสัมผัสกับอาหาร หรือ เครื่องดื่ม เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายกับมนุษย์ได้

LDPE แอลดีพีอี

พลาสติกประเภทนี้จะเป็นพลาสติกที่มีหมายเลข "4" อยู่ในสัญลักษณ์ที่มาร์คไว้บนผลิตภัณท์ค่ะ

มีชื่อเต็มว่า โพลิเอทิลีน(ชนิดความหนาแน่นต่ำ) (Low Density Polyethylene)

เป็นพลาสติกที่มีความหนาแน่นต่ำ มีความนิ่ม เหนียว และยืดหยุ่นตัวได้มาก

เป็ยพลาสติกที่มีความใส ทนทาน แต่ไม่ทนความร้อนนะคะ

นิยมมากในการนำไปผลิตเป็น แผ่นฟิล์ม ถุงพลาสติก ถุงเย็นบรรจุเครื่องดื่ม แผ่นฟิล์มใสสำหรับห่ออาหาร ห่อของ

ในส่วนของบรรจุภัณท์ เราจะเห็น พลาสติกประเภทนี้ใน หลอดครีมนวดผม และหลอดโฟมล้างหน้าค่ะ

ถ้าเรานำ พลาสติกLDPE ส่งไปรีไซเคิล จะถูกนำกลับใช้ในการผลิตเป็นถุงดำใส่ขยะ หรือถังขยะ

เช่นเดียวกันกับ PVC พลาสติกประเภทนี้ ม่ให้นำมาใช้ในบรรจุภัณฑ์ที่ต้องมีการสัมผัสกับอาหาร หรือ เครื่องดื่มเพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายกับมนุษย์ได้ จึงไม่นำมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร

PP พีพี

พลาสติกประเภทนี้จะเป็นพลาสติกที่มีหมายเลข "5" อยู่ในสัญลักษณ์ที่มาร์คไว้บนผลิตภัณท์ค่ะ

โพลิโพรพิลีน (Polypropylene) คือชื่อเต็มๆ แต่เราเรียกกันติดปากว่า “พีพี”

PPเป็นพลาสติกความหนาแน่นค่อนข้างต่ำ สามารถทนความร้อนได้ดี มีความคงรูป เหนียว และทนทาน ทนต่อแรงกระแทก

นอกจากนั้น PPยังทนต่อสารเคมีและน้ำมัน จึงมีอายุการใช้งานค่อนข้างนาน ไม่ใส มีความขุ่นเล็กน้อย แต่สามารถทำสีและพิมพ์ลวดลายได้สวยงาม ค่อนข้างเป็นที่นิยมในหลากหลายผลิตภัณท์ โดยเฉพาะที่นำมาใช้บรรจุ อาหารและเครื่องดื่ม เพราะมีความปลอดภัย

เราจะพบว่า PPถูกนำไปผลิตเป็น ถุงร้อน ขวดเครื่องดื่ม ถ้วยบะหมี่ ถ้วยโจ๊กกึ่งสำเร็จรูป กล่องบรรจุอาหารต่างๆ กระบอกสำหรับใส่น้ำเย็น หรือแม้กระทั่งขวดนมบางยี่ห้อ เป็นต้น

โดยทั่วไป สามารถทนอุณหภูมิได้ถึง -20 ˚C และความร้อนก็ทนได้ค่อนข้างสูงถึง ไม่เกิน 120˚C (ไม่ใช่ความร้อนแบบต่อเนื่อง)

PS พีเอส

เป็นพลาสติกที่มีหมายเลข "6" อยู่ในสัญลักษณ์ที่มาร์คไว้บนผลิตภัณท์ค่ะ

ชื่อเต็มๆคือ โพลิสไตรีน (Polystyrene) คุณสมบัติที่ชัดเจนมากๆคือ ความ"ใส" ค่ะ แต่ที่มากับความใสนั้นก็คือ พีเอส มีความเปราะ เป็นรอย และแตกง่าย แต่เป็นวัสดุที่มีต้นทุนค่อนข้างถูก เราจึงมักเห็น พีเอส ถูกนำไปผลิตเป็น ช้อน ถ้วยไอศครีม ตลับเทป

PS ในรูปแบบที่ไม่ใช่ของแข็ง แต่มาในแบบที่เป็น "โฟม" ก็มีนะคะ เช่นพวกกล่องโฟม หรือวัสดุตัวกันกระแทกต่างๆ

เนื่องจากราคาที่ถูก สินค้าประเภทที่เป็น ภาชนะสำหรับบรรจุอาหาร แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งก็มักจะทำจากวัสดุนี้ค่ะ

นอกจาก พลาสติกประเภทพื้นฐานที่เป็นที่นิยม ที่มีมาร์คหมายเลข 1 ถึง 6 แล้ว

ปัจจุบันมีพลาสติกประเภทอื่นๆ ใหม่ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่งใน 6 ชนิดนี้แล้ว

จะถูกมาร์ครวมกันจำเพาะ เป็น ประเภทที่เรียกว่า

OTHER อื่นๆ

ที่จะเห็นระบุเป็น หมายเลข "7"

ได้แก่

PC โพลิคาร์บอเนต (polycarbonate)

SAN, ABS และพลาสติกประเภทใหม่

Tritan

- PC ถือเป็นพลาสติกที่นิยมใช้มากในประเภท 7 นี้ เพราะ พีซี เป็นพลาสติกที่มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องความ"ใส" แต่ไม่เปราะ แข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทกสูง รวมทั้งสามารถทนต่ออุณหภูมิได้ในช่วงระยะที่มากที่สุด

ทนต่อความเย็นได้ถึงอุณหภูมิ –20˚C และทนต่อความร้อนได้ถึง 130˚C

เมื่อเทียบกับพลาสติกเบอร์อื่นๆ พีซี เป็นที่นิยมมากในการนำมาผลิตเป็น ภาชนะใส่อาหารและกระบอกน้ำดื่ม รวมไปถึง ขวดนมเด็ก

- SAN (styrene-acrylonitrile) เป็นพลาสติกที่มีความโปร่งใส คือมีลักษณะไม่ใสแต่ไม่ถึงกับทึบแสง ใช้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

- ABS (acrylonitrile-butadiene-styrene) มีคุณสมบัติคล้ายกันกับ PS โพลิสไตรีน (หมายเลข6) แต่สามารถทนกับสารเคมีได้ดีกว่า มีความเหนียวและโปร่งแสง มักใช้ผลิตเป็นถ้วยน้ำ ถาดเสริฟพลาสติก เป็นต้น

- Tritan™ เป็นพลาสติกชนิดใหม่ที่ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท Eastman Chemical ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ระดับโลก

เป็นพลาสติกที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อนำมาเป็นวัสดุทดแทน PC หรือพลาสติกประเภทอื่นๆที่มีสาร BPA

เป็นพลาสติกที่มีความใสเกือบเหมือนแก้ว แต่ไม่เปราะ แข็งแรง ทนทานและปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไร้สาร BPA (Bisphenol-A) ที่ปกติมีอยู่ใน พลาสติกประเภทPC

(คลิกภาพด้านล่างเพื่ออ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กระบอกน้ำที่ปราศจากสาร BPA)

ดังนั้น ถ้าเห็นมาร์คพลาสติกที่เป็นเลข 7 ในสินค้าที่ระบุว่า ปราศจากสาร BPA แต่ยังมีความใส และทำสีได้หลากหลาย มักจะเป็น พลาสติกประเภท Tritan™ค่ะ

สินค้าพลาสติกต่างๆถูกออกแบบมาให้ความสะดวกสบายกับเราในแต่ละกิจกรรม พลาสติกเกรดดีไม่ใช่ผู้ร้าย ถ้าเราเลือกใช้และดูแลรักษาอย่างเหมาะสม พลาสติกหลายประเภทสามารถส่งกลับไปรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และถ้าจะให้ดี สินค้าที่สามารถใช้งานซ้ำได้อย่างคุ้มค่า จะช่วยต่ออายุให้กับผลิตภัณท์นั้นๆ ไม่ถูกทิ้งไปเป็นขยะ เป็นการช่วยประหยัดทรัพยากร เพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อีกทางนึงด้วยค่ะ

Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
No tags yet.
  • Facebook Basic Square
bottom of page