top of page

กระบอกน้ำปราศจากสาร BPA (BPA Free)สำคัญยังไง?


BPA Free-กระบอกน้ำ-กระติกน้ำ-แก้วน้ำ

เชื่อว่า เพื่อนๆคงจะเคยได้ยินว่า เวลาจะเลือก สินค้าพลาสติก กระบอกน้ำ กระติกน้ำ แก้วน้ำ โดยเฉพาะที่เป็นภาชนะใส่อาหาร ใส่น้ำ ใส่นมสำหรับเด็กนั้น ให้ระมัดระวังและให้เลือกสินค้าที่ผลิตจากวัสดุปราศจากสารอันตราย BPA / BPS เนื่องจากมีรายงานและการวิจัยเชิงวิชาการที่เชื่อกันว่า หากสารนี้สะสมเข้าสู่ร่างกายของเราแล้ว อาจจะเป็นสาเหตุนึงในการก่อให้เกิดโรคมะเร็งร้ายได้

เราได้ยินกันมาว่าเจ้าสาร BPA นั้นเป็นสารอันตราย แต่สารตัวนี้คืออะไร ? อันตรายอย่างไร ? และเข้าสู่ร่างกายของเราได้อย่างไร ?

โพสต์นี้จะชวนทุกๆคน ลองไปศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจด้วยกันค่ะ เมื่อเราเข้าใจ รู้ทันแล้ว เราจะได้ป้องกันตัวเราและคนที่เรารักให้ห่างไกลจากอันตรายของสารนี้กันอย่างถูกวิธีค่ะ

BPA หรือ Bisphenol A คือ สารเคมีประกอบหนึ่งในวัตถุที่เรียกว่า โพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate – Plastic)และอิพอกซี่ เรซิน (Epoxy Resins) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิต สินค้าพลาสติก"แข็ง"ที่ขึ้นรูปมาเป็นขวดนม กระบอกน้ำดื่ม แผ่นดีวีดี โทรศัพท์มือถือ เลนส์แว่นตาพลาสติก ชิ้นส่วนบางอย่างในรถยนต์ กระป๋องบรรจุอาหาร กระป๋องบรรจุสี บรรจุเคลือบ บรรจุกาว หรือบรรจุวัสดุที่ใช้ในอุตสาหกรรมซ่อมแซมบ้าน โดยสารนี้มีคุณสมบัติช่วยให้พลาสติกมีความแข็งแรง มีความใส ทนทานไม่แตกง่าย

ความอันตรายของสาร BPA นั้นเป็นที่น่าเป็นห่วง เมื่อมันถูกเอามาใช้ในการผลิตสินค้าที่ใช้ในการบรรจุอาหารหรือ เครื่องดื่ม เช่น กระป๋องอาหาร ขวดนม กล่องเก็บอาหาร และกระบอกน้ำพลาสติก

โดยที่สาร Bisphenol A (BPA) จริงๆแล้วไม่ใช่สารก่อมะเร็ง แต่สารตัวนี้เป็นสารที่อาจจะมีการตกค้างในพลาสติกประเภท โพลีคาร์บอเนต หรือ PC และอิพอกซี่ เรซินที่ใช้ทำกระป๋องพลาสติกบรรจุอาหารและผลิตภัณท์บรรจุของเหลวต่างๆ

การที่สารประเภทนี้ตกค้างและเข้าสู่ร่างกายของเรา เชื่อว่าจะมีผลต่อการสร้างเซลล์สมอง, ระบบประสาท, ความทรงจำ และการเรียนรู้ นอกจากนี้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่มีข้อสงสัยว่าสารBPAนี้มีผลไปเร่งอัตราฮอร์โมนการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ ทำให้เด็กเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วเกินไป

ทั้งยังมีผลการทดสอบทางวิทยาศาตร์ว่า ในหมู่ผู้ที่ได้รับสาร BPA นั้น จะมีแนวโน้มที่จะทำให้มีโอกาสเกิดโรคอ้วนและไฮเปอร์แอคทีฟ มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และโรคหัวใจ รวมไปถึงความเชื่อที่ว่า ยิ่งสารนี้ถูกสะสมในร่างกายมากเท่าใด ก็จะมีโอกาสเป็นสาเหตุนึงของการเกิดโรคมะเร็งได้

ความเชื่อเกี่ยวกับความอันตรายของสาร BPA

จากรายงานของ Environment California Research and Policy Center ของสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่า ขวดนมพลาสติกแบบใสที่นิยมใช้กันอยู่ทุกวันนี้ หากผลิตจากพลาสติก PC พบว่ามีBPAเป็นสารประกอบ ถือเป็นสารเคมีที่เป็นภัยต่อฮอร์โมนการเจริญเติบโต ระบบประสาท และระบบสืบพันธุ์

โดยจากการทำการทดลองกับขวดนมเด็ก 5 ยี่ห้อ พบว่ามี สาร BPAออกมาจากภาชนะขวดเข้าสู่ของเหลวที่บรรจุภายใน ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทดลองในห้องแล็บ ทำให้สารBPA ถูกประกาศควบคุมและสั่งห้ามในผลิตภัณท์สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เช่น ขวดนม หรือ ของเล่น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค (2008)

การศึกษาและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมจากทางฝั่งยุโรป จากองค์กรอาหารปลอดภัยยุโรป (European Food Safety Authoritiy : EFSA) แถลงล่าสุดว่า(2016) ให้ยกระดับการควบคุมการใช้สารBPA ให้เข้มงวดขึ้นมาอีก และ สารBPAถูกห้ามใช้ในการผลิตขวดนมเด็กในยุโรป

จากการวิจัย มีความเชื่อได้ว่า หากนำขวดนมหรือ กระบอกน้ำพลาสติก มาผ่านความร้อนด้วยการต้ม นึ่ง หรือสเตอริไลซ์ จะมีโอกาสสูงที่ทำให้สารประกอบในเนื้อพลาสติกหลุดและร่อนออกมาปะปนในเครื่องดื่มได้ การบริโภคอาหาร หรือ เครื่องดื่มจากบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นก็มีโอกาสที่ร่างกายของเรา อาจจะได้รับสาร BPA เข้าไปโดยไม่รู้ตัว นอกจากนั้นแล้ว หากภาชนะมีการแตกร้าว เสื่อมคุณภาพ และผลิตโดยไม่ได้มาตรฐาน สารBPA ก็มีโอกาสปนเปื้อนเข้าไปในการบริโภคเครื่องดื่มนั้นๆเช่นกัน

ปัจจุบันวัตถุดิบทางเลือกที่มาทดแทนใช้ในการผลิต ขวดนมเด็ก หรือกระบอกน้ำพลาสติก มีหลายชนิด แต่วัตถุดิบที่ปลอดภัยที่สุดในขณะนี้คือ Tritan และ PP

เนื่องจากข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นพิษในสินค้าบริโภค Environment California Research and Policy Center จึงได้ออกข้อแนะนำเกี่ยวกับขวดนมเด็ก ให้พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กทั่วไปปฎิบัติตามดังนี้:

- เลือกใช้ขวดนมแก้วหรือขวดพลาสติกที่ปลอดภัยจากสาร BPA ( non BPA หรือ BPA Free)

- อย่าให้ความร้อนแก่อาหารหรือเครื่องดื่มที่บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือขวดพลาสติก

เพราะจะทำให้ขบวนการกรองสารพิษออกมาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

- เวลาล้างผลิตภัณฑ์พลาสติกให้หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาล้างที่แรงและน้ำร้อน ทั้ง 2 สิ่งนี้ทำให้ขบวนการกรองสารพิษออกมาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

- คำแนะนำอื่นๆและข้อมูลเพิ่มเติม อ่านได้ที่ http://www.EnvironmentCalifornia.org/

จากข้อกำหนดนี้ที่บังคับใช้กับสินค้าสำหรับเด็ก ปัจจุบัน ถึงแม้เป็นสินค้าสำหรับผู้ใหญ่ ถ้าหากผลิตจากพลาสติกแข็ง มีความใส คงทน เป็นผลิตภัณท์สำหรับบรรจุอาหาร น้ำ หรือเครื่องดื่ม ก็มีมาตรการในการหลีกเลี่ยงการผลิตจากพลาสติกที่มีสาร BPA/ BPS เป็นสารประกอบด้วยเช่นกัน โดยสังเกตได้จากสัญลักษณ์ BPA-Free ( Non BPA) ซึ่งก็คือ สัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยไม่ใช้สาร BPA นั่นเอง

ทราบเช่นนี้แล้ว เราจึงควรระมัดระวังในการเลือกผลิตภัณท์บรรจุอาหาร หรือ เครื่องดื่ม ให้ปลอดภัย ปราศจากสารเคมีอันตราย BPA/ BPS กันค่ะ

Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
No tags yet.
  • Facebook Basic Square
bottom of page